ธรรมชาติ

ธรรมชาติ

วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2557

สมาธิเบื้องต้น (อานาปานัสสติ) สำหรับคนทั่วไปอย่างง่าย

พระธรรมเทศนาโดย พระธรรมโกศาจารย์ (ท่านเจ้าประคุณพุทธทาส อินทปัญโญ) ในกรณีปกติให้นั่งตัวตรง (ข้อกระดูกสันหลังจรดกันสนิทเต็มหน้าตัดของมันทุกๆ ข้อ) ๑. ศรีษะตั้งตรงตามองไปที่ปลายจมูกให้อย่างยิ่งจนไม่เห็นสิ่งอื่น จะเห็นอะไร หรือไม่เห็นก็ตามใจ ขอให้จ้องมองเท่านั้น พอชินเข้าจะได้ผลดีกว่าหลับตา และไม่ชวนให้ง่วงนอนได้ง่ายด้วย โดยเฉพาะคนขี้ง่วงให้ทำอย่างลืมตานี้แทนหลับตา ทำไปเรื่อยๆ ตามันจะหลับของมันเอง ในเมื่อถึงขั้นที่มันจะต้องหลับ หรือจะหัดทำอย่างหลับตาเสียตั้งแต่ต้นก็ตามใจ แต่วิธีที่ลืมตานั้นจะมีผลดีกว่าหลายอย่าง แต่ว่าสำหรับบางคนรู้สึกว่าทำยาก โดยเฉพาะพวกที่ยึดถือในการหลับตา ย่อมไม่สามารถทำอย่างลืมตาได้เลย ๒. มือปล่อยวางไว้บนตักซ้อนกันตามสบาย ขาขัดหรือซ้อนกันโดยวิธีที่จะช่วยยันน้ำหนักตัว ให้นั่งได้ถนัดและล้มยาก ขาขัดอย่างซ้อนกันธรรมดาหรือจะขัดไขว้กันนั่นแล้วแต่จะชอบหรือทำได้ คนอ้วนจะขัดขาไขว่กันอย่างที่เรียกว่า ขัดสมาธิเพชรนั้น ทำได้ยากและไม่จำเป็น ขอแต่ให้นั่งคู้ขาเข้ามา เพื่อรับน้ำหนักตัวให้สมดุลล้มยากก็พอแล้ว ขัดสมาธิอย่างเอาจริงเอาจังยากๆ แบบต่างๆ นั้นไว้สำหรับเมื่อจะเอาจริงอย่างโยคีเถิด ๓. ในกรณีพิเศษสำหรับคนป่วยคนไม่ค่อยสบายหรือแม้แต่คนเหนื่อย จะนั่งอิงหรือนั่งเก้าอี้ หรือเก้าอี้ผ้าใบสำหรับเอนทอดเล็กน้อย หรือนอนเลยสำหรับคนเจ็บไข้ก็ทำได้ ทำในที่ไม่อับอากาศ หายใจได้สบายไม่มีอะไรกวนจนเกินไป ๔. เสียงอึกทึกที่ดังสม่ำเสมอ และไม่มีความหมายอะไร เช่น เสียงคลื่น เสียงโรงงานเหล่านี้ไม่เป็นอุปสรรคเว้นแต่จะไปยึดถือว่าเป็นอุปสรรคเสียเอง เสียงที่มีความหมายต่างๆ เช่น เสียงคนพูดกันนั้น เป็นอุปสรรคแก่ผู้หัดทำ ถ้าหาที่เงียบเสียงไม่ได้ ก็ให้ถือว่าไม่มีเสียงอะไร ตั้งใจทำไปก็แล้วกัน มันจะค่อยได้เอง ๕. ทั้งที่ตามองเหม่อ ดูปลายจมูกอยู่ก็สามารถรวมความนึกหรือความรู้สึก หรือเรียกาษาวัดว่า สติ ไปกำหนดจับอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกของตัวเองได้ คนที่ชอบหลับตาก็หลับตาแล้วตั้งแต่ตอนนี้ คนชอบลืมตาลืมไปได้เรื่อยๆ จนมันค่อยๆ หลับของมันเองเมื่อเป็นสมาธิมากขึ้นๆ ๖. เพื่อจะให้กำหนดได้ง่ายๆ ในขั้นแรกหัด ให้พยายามหายใจให้ยาวที่สุดที่จะยาวได้ด้วยการฝืนทั้งเข้าและออกหลายๆ ครั้งเสียก่อนเพื่อจะได้รู้ตัวเองให้ชัดเจนว่า ลมหายใจที่มันลากเข้าออกเป็นทางอยู่ภายในนั้น มันลากถูหรือกระทบอะไรบ้าง ในลักษณะอย่างไร และกำหนดได้ง่ายๆ ว่า มันไปรู้สึกว่าสุดลงที่ตรงไหนที่ในท้อง โดยเอาความรู้สึกที่กระเทือนนั้นเป็นเกณฑ์พอเป็นเครื่องกำหนดส่วนสุดข้างใน และส่วนสุดข้างนอก ก็กำหนดง่ายๆ เท่าที่จะกำหนดได้ ๗. คนธรรมดาจะรู้สึกลมหายใจกระทบปลายจะงอยจมูก ให้ถือเอาตรงนั้นเป็นที่สุดข้างนอก ถ้าคนจมูกแฟบหน้าหัก ริมฝีปากบนเชิด ลมจะกระทบปลายริมฝีปากบนอย่างนี้ก็ให้กำหนดเอาที่ตรงนั้นว่าเป็นที่สุดท้ายข้างนอกแล้วก็จะได้จุดทั้งข้างนอกและข้างใน โดยกำหนดเอาว่าที่ปลายจมูกจุดหนึ่งที่สะดือจุดหนึ่ง แล้วลมหายใจได้ลากตัวมันเองไปมาอยู่ระหว่างจุดสองจุดนี้ ขึ้นลงอยู่เสมอ ๘. ทีนี้ทำใจของเราให้เป็นเหมือนอะไรที่คอยวิ่งตามลมนั้นไม่ยอมพรากทุกครั้งที่หายใจทั้งขึ้นและลงตลอดเวลาที่ทำสมาธินี้ จัดเป็นชั้นหนึ่งของการกระทำ เรียกกันง่ายๆ ในที่นี้ก่อนว่า ขั้น “วิ่งตามตลอดเวลา” กล่าวมาแล้วว่าเริ่มต้นที่เดียวให้พยายามฝืนหายใจให้ยาวที่สุดและให้แรงๆ และหยาบที่สุดหลายๆ ครั้งเพื่อให้พบจุดหัวท้าย แล้วพบเส้นที่ลากอยู่ตรงกลางๆ ให้ชัดเจน ๙. เมื่อจิตหรือสติจับหรือกำหนดตัวลมหายใจที่เข้าๆ ออกๆ ได้โดยทำความรู้สึกที่ๆ ลมมันกระทบลากไป แล้วไปสุดลงที่ตรงไหน แล้วจึงกลับเข้าหรือกลับออกก็ตามดังนี้แล้ว ก็ค่อยๆ ผ่อนให้การหายใจนั้นค่อยๆ เปลี่ยนเป็นหายใจอย่างธรรมดาโดยไม่ต้องฝืน แต่สตินั้นคงกำหนดที่ลมได้ตลอดเวลาตลอดสาย เช่นเดียวกับเมื่อแกล้งหายใจหยาบแรงๆ นั้นเหมือนกัน คือกำหนดได้ตลอดสายที่ลมผ่านจากจุดข้างในคือสะดือหรือท้องส่วนล่าง ก็ตามถึงจุดข้างนอกคือปลายจมูก หรือปลายริมฝีปากบนแล้วแต่กรณี ลมหายใจจะละเอียดหรือแผ่วลงอย่างไร สติก็คงกำหนดได้ชัดเจนอยู่เสมอไปโดยให้การกำหนดนั้นละเอียดเข้าตามส่วน ๑๐. ถ้าเผอิญเป็นว่าเกิดกำหนดไม่ได้เพราะลมจะละเอียดเกินไปก็ให้ตั้งต้นหายใจให้หยาบหรือแรงกันใหม่ แม้จะไม่เท่าทีแรกก็เอาพอให้กำหนดได้ชัดเจนก็แล้วกัน กำหนดกันไปใหม่จนให้มีสติรู้สึกอยู่ที่ลมหายใจไม่มีขาดตอนให้จนได้ คือจนกระทั่งกายใจอยู่ตามธรรมดาไม่มีฝืนอะไรก็กำหนดได้ตลอดมันยาวหรือสั้นแค่ไหนก็รู้ มันหนักหรือเบาเพียงไหนก็รู้พร้อมอยู่ในนั้น เพราะสติเพียงแต่คอยเกาะแจอยู่ติดตามไปมาอยู่กับลมตลอดเวลา ทำได้อย่างนี้เรียกว่าทำการบริกรรมในขั้น “วิ่งตามไปกับลม” ได้สำเร็จ ๑๑. การทำไม่สำเร็จนั้น คือสติ หรือความนึกไม่อยู่กับลมตลอดเวลา เผลอเมื่อไรก็ไม่รู้ มารู้เมื่อมันไปแล้ว และก็ไม่รู้ว่ามันไปเมื่อไร โดยอาการอย่างไรเป็นต้น พอรู้ก็จับตัวมันมาใหม่และฝึกกันไปกว่าจะได้ในขั้นนี้ ครั้งหนึ่ง ๑๐ นาที เป็นอย่างน้อยแล้วจึงค่อยฝึกขั้นต่อไป ๑๒. ขั้นต่อไป ซึ่งเรียกว่า บริกรรมขั้นที่สอง หรือขั้น “ดักดูอยู่แต่ตรงที่แห่งใดแห่งหนึ่ง” นั้นจะทำต่อเมื่อทำขั้นแรกข้างต้นได้แล้วเป็นดีที่สุด หรือใครจะสามารถข้ามมาทำขั้นที่สองนี้ได้เลย ก็ไม่ว่า ในขั้นนี้จะให้สติ หรือความนึกคอยดักกำหนดอยู่ตรงที่ใดแห่งหนึ่ง โดยเลิกการวิ่งตามลมเสีย ให้กำหนดความรู้สึกเมื่อลมหายใจเข้าไปถึงที่สุดข้างใน คือสะดือครั้งหนึ่งแล้วปล่อยวางหรือวางเฉย แล้วกำหนดรู้สึกกันเมื่อลมออกมากระทบที่สุดข้างนอกคือปลายจมูกอีกครั้งหนึ่ง แล้วก็ปล่อยว่างหรือวางเฉย จนมีการกระทบส่วนสุดข้างในคือสะดืออีก ทำนองนี้เรื่อยไปไม่มีการเปลี่ยนแปลง ๑๓. เมื่อเป็นขณะที่ปล่อยวาง หรือวางเฉยนั้นจิตก็ไม่ได้หนีไปอยู่บ้านช่องไร่นาหรือที่ไหนเลยเหมือนกัน แปลว่าสติคอยกำหนดที่ส่วนสุดข้างในหนึ่งข้างนอกแห่งหนึ่ง ระหว่างนั้นปล่อยเงียบหรือว่าง เมื่อทำได้อย่างนี้เป็นที่แน่นอนแล้ว ก็เลิกกำหนดข้างในเสีย คงกำหนดแต่ข้างนอก คือที่ปลายจมูกแห่งเดียวก็ได้ สติคอยเฝ้ากำหนดอยู่แต่ที่จะงอยจมูกไม่ว่าลมจะกระทบเมื่อหายใจเข้าหรือเมื่อหายใจออกก็ตาม ให้กำหนดรู้ทุกครั้ง สมมติเรียกว่าเฝ้าแต่ตรงที่ปากประตู ให้มีความรู้สึกครั้งหนึ่งๆ เมื่อลมผ่านออกนั้นว่าง หรือเงียบ ระยะกลางที่ว่างหรือเงียบนั้นจิตไม่ได้หนีไปอยู่ที่บ้านช่องหรือที่ไหนอีกเหมือนกัน ๑๔. ทำได้อย่างนี้เรียกว่า ทำบริกรรมในชั้น “ดักอยู่แต่ในที่แห่งหนึ่ง” นั้นได้สำเร็จ จะไม่สำเร็จก็ตรงที่จิตหนีไปเสียเมื่อไรก็ไม่รู้ มันกลับเข้าไปในประตูหรือเข้าประตูแล้วลอดหนีไปทางไหนเสียก็ได้ทั้งนี้เพราะระยะที่ว่างหรือเงียบนั้น เป็นไปไม่ถูกต้องและทำไม่ดีมาตั้งแต่ข้างต้นของขั้นนี้ เพราะฉะนั้นควรให้ดีหนักแน่นและแม่นยำมาตั้งแต่ขั้นแรก คือขั้น “วิ่งตามตลอดเวลา” นั้นทีเดียว ๑๕. แม้ขั้นต้นที่สุดหรือที่เรียกว่าขั้น “วิ่งตามตลอดเวลา” ก็ไม่ใช่ทำได้โดยง่ายสำหรับทุกคน และเมื่อทำได้ก็มีผลเกินคาดมาแล้วทั้งกายและใจ จึงควารทำให้ได้และทำให้เสมอๆ จนเป็นของเล่นอย่างการปริหารกายมีเวลาสองนาทีก็ทำ เริ่มหายใจให้แรงจนกระดูกลั่นก็ยิ่งดี จนมีเสียงหวีดหรืออซูดซาดก็ได้ แล้วค่อยผ่อนให้เบาไปๆ จนเข้าระดับปกติของมัน ๑๖. ตามธรรมดาที่คนเราหายใจอยู่นั้นไม่ใช่ระดับปกติ แต่ว่าต่ำกว่า หรือน้อยกว่าปกติโดยไม่รู้สึกตัวโดยเฉพาะเมื่อทำกิจการงานต่างๆ หรืออยู่ในอิริยาบถที่ไม่เป็นอิสระนั้นลมหายใจของตัวเองอยู่ในลักษณะที่ต่ำกว่าปกติที่ควรจะเป็นทั้งที่ตนเองไม่ทราบได้ เพราะฉะนั้นจึงให้เริ่มด้วยหายใจอย่างรุนแรงเสียก่อนแล้วจึงค่อยปล่อยให้เป็นไปตามปกติ อย่างนี้จะได้ลมหายใจที่เป็นสายกลางหรือพอดี และทำร่างกายให้อยู่ในสภาพปกติด้วยเหมาะสำหรับจะกำหนดเป็นนิมิตรของอานาปานัสสติในขั้นต้นนี้ด้วย ๑๗. ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าการบริกรรมขั้นต้นที่สุดนี้ขอให้ทำจนเป็นของเล่นปกติสำหรับทุกคนและทุกโอกาสเถิด จะมีประโยชน์ในส่วนสุขภาพทั้งทางกายและใจอย่างยิ่ง แล้วจะเป็นบันไดสำหรับขั้นสองต่อไปอีกด้วย แท้จริง ความแตกต่างกันในระหว่างขั้น “วิ่งตามตลอดเวลา” กับ “ดักดูอยู่เป็นแห่งๆ” นั้นมีไม่มากมายอะไรนัก เป็นแต่เป็นการผ่อนให้ประณีตเข้า คือมีระยะการกำหนดด้วยสติน้อยเข้าแต่คงมีผล คือจิตหนีไปไม่ได้เท่ากัน ๑๘. เพื่อให้เข้าใจง่ายจะเปรียบกับพี่เลี้ยงไกวเปลเด็กอยู่ข้างเสาเปล ขั้นแรกก็จับเด็กใส่ลงในเปลแล้วเด็กยังไม่ง่วง ยังคอยจะดิ้นหรือลุกออกจากเปลในขั้นนี้พี่เลี้ยงจะต้องคอยจับตาดูแหงนหน้าไปมาดูเปลไม่ให้วางตาได้ ซ้ายทีขวาทีอยู่ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้เด็กมีโอกาสตกมาจากเปลได้ ครั้นเด็กชักจะยอมนอน คือไม่ค่อยจะดิ้นรนแล้วพี่เลี้ยงก็หมดความจำเป็นที่จะต้องแหงนหน้าไปมา ซ้ายทีขวาทีตามระยะที่เปลไกวไปไกวมา พี่เลี้ยงคงเพียงแต่มองเด็กเมื่อเปลไกวมาตรงหน้าตนเท่านั้นก็พอแล้ว มองแต่เพียงครั้งหนึ่งๆ เป็นระยะๆ ขณะที่เปลไกวไปมาตรงหน้าตนพอดี เด็กก็ไม่มีโอกาสลงจากเปลเหมือนกันเพราะเด็กชักจะยอมนอนขึ้นมา ดังกล่าวแล้ว ๑๙. ระยะแรกของการบริกรรมกำหนดลมหายใจในขั้น “วิ่งตามตลอดเวลา” นี้ก็เปรียบกันได้กับระยะที่พี่เลี้ยงต้องคอยส่ายหน้าไปมาตามเปลที่ไกวไม่ให้วางตาได้ ส่วนระยะที่สองกำหนดลมหายใจเฉพาะที่ปลายจมูกที่เรียกว่า ขั้น “ดักอยู่แห่งใดแห่งหนึ่ง” นั้นก็คือขั้นที่เด็กชักจะง่วงและยอมนอนจนพี่เลี้ยงจับตาดูเฉพาะเมื่อเปลไกวมาตรงหน้าตนนั่นเอง ๒๐. เมื่อฝึกหัดมาได้ขั้นที่สองนี้อย่างเต็มที่ก็อาจฝึกต่อไปถึงขั้นที่ผ่อนระยะการกำหนดของสติให้ประณีตเข้าๆ จนเกิดสมาธิชนิดแน่วแน่เป็นลำดับ ไปจนถึงเป็นฌาณขั้นใดขั้นหนึ่งได้ซึ่งพ้นไปจากสมาธิอย่างง่ายๆ ในขั้นต้นๆ สำหรับคนธรรมดาทั่วไปและไม่สามารถนำมากล่าวรวมกันไว้ในที่นี้เพราะ เป็นเรื่องละเอียดรัดกุม มีหลักเกณฑ์ซับซ้อนต้องศึกษากันเฉพาะผู้สนใจถึงขั้นนั้น ในขณะนี้เพียงแต่ขอให้สนใจในขั้นมูลฐานกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเป็นของเคยชินเป็นธรรมดาอันอาจจะตะล่อมเข้าเป็นขั้นสูงขึ้นไปตามลำดับในภายหลัง สิ่งที่มนุษย์ควรจะได้พบ ขอให้ฆารวาสทั่วไปได้มีโอกาสทำสมาธิ ชนิดที่อาจทำประโยชน์ทั้งกายและใจสมความต้องการในขั้นต้นเสียขั้นหนึ่งก่อน เพื่อจะได้เป็นผู้ชื่อว่ามีศีล สมาธิ ปัญญา ครบสามประการ หรือมีความเป็นผู้ประกอบตนอยู่ในมรรคมีองค์แปดประการได้ครบถ้วน แม้ในขั้นตน ก็ยังดีกว่าไม่มีเป็นไหนๆ กายจะระงับลงไปกว่าที่เป็นอยู่ตามปกติก็ด้วยการฝึกสมาธิสูงขั้นไปตามลำดับๆ เท่านั้น และจะได้พบ “สิ่งที่มนุษย์ควรจะได้พบ” อีกสิ่งหนึ่งซึ่งทำให้ไม่เสียทีที่เกิดมา ท่านที่สนใจฝึกสมาธิขั้นสูงขึ้นไป ขอให้อ่านหนังสือเรื่องอานาปานัสสติสมบูรณ์แบบ อันเป็นวิธีการฝึกสมาธิที่เหมาะอย่างยิ่งกับวิธีการนี้ คัดลอกจากหนังสือ สมาธิเบื้องต้น (อานาปานัสสติ) http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=8615

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น